top of page

Passport พาสปอร์ตสำคัญอย่างไร ??

Updated: Mar 30, 2020

พาสปอร์ต หรือหนังสือเดินทาง จริงๆแล้ว มันมีเรื่องราว มีข้อมูล หรือแม้กระทั่งความลับอะไรบางอย่างซ่อนอยู่ และจริงหรือไม่ ที่มันเป็นมากกว่าแค่หนังสือเดินทางสำหรับประทับตรา เวลาเข้า-ออกระหว่างประเทศ เท่านั้น …





1. พาสปอร์ตบางประเทศ คือ บัตรประชาชน

  ในบางประเทศ เช่น รัสเซีย และประเทศเครือ CIS พาสปอร์ต หมายถึง เอกสารระบุความเป็นตัวตนของบุคคลนั้นๆ ตามกฎหมาย และใช้ทั่วไป ไม่ใช่แค่ในการเดินทางเข้า-ออกประเทศ แต่อย่างในประเทศยูเครน หรือเบลารุส พาสปอร์ตยังใช้จดทะเบียนสมรส ซื้อบ้าน เปลี่ยนที่ทำงาน ฯลฯ เพราะในหนังสือเล่มเดียว จะมีตราประทับ บันทึกข้อมูลสำคัญในช่วงชีวิตคนๆนั้นรวมเอาไว้หมด ไม่ว่าจะเป็นแต่งงานกับใคร เคยอยู่ที่ไหน ตำบลใด ถ้าเป็นผู้หญิงก็จะมีรูปลูกปิดประทับไว้ด้วย ในบางประเทศ เช่น อุซเบกิสถาน หากจะเดินทางออกนอกประเทศ ก็ต้องเอาพาสปอร์ตเล่มเดียวกันนั้น ไปประทับตรา เพื่อลงบันทึกรับรอง (endorsement) ว่า พาสปอร์ตสามารถใช้เดินทางออกนอกประเทศได้อีกด้วย เรียกได้ว่า เล่มเดียว ครอบจักรวาล ใช้ได้สารพัดประโยชน์ และไม่ต้องพกบัตรประชาชนแยกต่างหากให้เสียเวลา (แต่เวลาหายก็แย่เหมือนกันนะเออ เพราะข้อมูลสำคัญๆ ก็ไปหมดเช่นกัน) ด้วยเหตุนี้ จึงไม่น่าแปลกใจที่ในบางประเทศ พาสปอร์ตจะไม่ได้ออกให้โดยมีอายุเพียง 5 ปี แต่ออกตามช่วงอายุ เช่น ในประเทศเบลารุสสมัยก่อน หากเด็กแรกเกิดออกนอกประเทศครั้งแรก จะได้รับพาสปอร์ตจนถึงอายุ 14 ขวบ หลังจากนั้น ก็จะต้องออกพาสปอร์ตใหม่ไปจนถึง “วันเกิด” ในวัยเกษียณอายุ คือ 64 ปี และหลังจากนั้น ก็จะเป็นพาสปอร์ตที่มีอายุใช้งานยาวไปจนถึง 100 ปี เรียกว่า ออกให้เผื่อได้อยู่กันไปยาวๆ เลยทีเดียว (แต่ในปี 2012 รัฐบาล เปลี่ยนกฏโดยออกให้มีอายุ 10 ปี ในแต่ละครั้ง)



2. พาสปอร์ต แถบเลขข้อมูลที่ตรวจสอบของจริง-ปลอม ได้ด้วยตัวเอง

หากลองสังเกตเล่นๆ บนหน้าที่มีรูปถ่ายในพาสปอร์ตไทย จะมีแถบตัวเลขมากมาย ซึ่งจริงๆแล้ว ก็คือข้อมูลส่วนตัวของคุณ ที่นำมารวมกันเป็นแถบ และใช้เป็นตัวตรวจสอบความถูกต้องได้คร่าวๆ เกี่ยวกับข้อมูลส่วนตัวของผู้เป็นเจ้าของพาสปอร์ตได้ด้วย โดยหากดูในรูปประกอบ คุณจะพบว่า – แถบบน ตัวอักษรแรก คือ รหัสเดียวกับเลขพาสปอร์ตของคุณ – แถบล่าง เริ่มต้นด้วยเลขพาสปอร์ต – ถัดไป คือ สัญชาติแบบย่อตัวอักษร 3 ตัว – ถัดไป คือ วัน-เดือน-ปีเกิด ที่เรียงใหม่เป็น ปี-เดือน-วันเกิด – ถัดไป เป็น M หรือ F เพื่อแสดงเพศ – ถัดไป เป็น วันหมดอายุของหนังสือเดินทาง โดยเรียงเป็น ปี-เดือน-วัน – ถัดไป เป็น หมายเลขบัตรประชาชนของคุณ


3. สีของปกพาสปอร์ต มีความหมาย

                 เคยสังเกตหรือไม่? ว่าสีของปกพาสปอร์ต ทั้งในไทยเอง และในประเทศอื่นๆ มีความหมายในตัวเอง สำหรับพาสปอร์ตไทย หลายคนอาจจะไม่ทราบว่า หน้าปกพาสปอร์ตมีมากกว่าสีเลือดหมูอย่างที่เราคุ้นเคยกัน โดยแบ่งเป็น 3 สี คือ – สีเลือดหมู เป็นพาสปอร์ตบุคคลธรรมดาทั่วไป มีอายุ 5 ปี – สีน้ำเงินเข้ม เป็นพาสปอร์ตของข้าราชการ ที่จะเดินทางไปศึกษาดูงานต่างประเทศ ฯลฯ มีอายุ 5 ปี เช่นกัน และต้องมีหนังสือนำจากหน่วยงานราชการ เพื่อทำหนังสือเดินทางแบบนี้ได้ – สีแดงสด เป็นพาสปอร์ตนักการทูต มีอายุ 5 ปี เช่นกัน และไม่สามารถต่ออายุได้ และหากนักการทูตทำหาย รัฐบาลเจ้าของประเทศหนังสือเดินทางก็จะต้องแจ้ง “ยกเลิกใช้หนังสือเดินทาง” ไปยังประเทศอื่นๆให้ทราบทั่วกัน เพราะอันตรายอย่างยิ่ง หากมีการปลอมแปลงหนังสือเดินทาง เนื่องจากสิทธิของนักการทูตมีอภิสิทธิมาก และได้รับการคุ้มครองจากการถูกจับกุมโดยอีกประเทศหนึ่งได้ด้วย ส่วนในต่างประเทศ จากการสำรวจโดยทั่วไป กลุ่มประเทศใน EU จะนิยมใช้สีแดงเข้ม-เลือดหมู ในขณะที่ประเทศที่ในประวัติศาสตร์ แตกตัวออกมาจากยุโรป เช่น สหรัฐฯ, ละตินอเมริกา หรือออสเตรเลีย จะใช้สีนำเงินเข้ม เพื่อสะท้อน “การออกเดินทางโพ้นทะเล” ไปค้นพบดินแดนใหม่ ในขณะที่ประเทศมุสลิม ส่วนใหญ่จะใช้สีเขียว ซึ่งเปรียบเสมือนสีของศาสดามูฮัมหมัด แม้แต่ในประเทศเอเชียกลาง เช่น อุซเบกิสถาน, เติร์กเมนิสถาน ก็จะใช้สีเขียว เช่นกัน เพราะคนส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม บางครั้ง ก็สีปกพาสปอร์ตก็สะท้อนนโยบายของชาตินั้นๆ เช่น ในสมัยโซเวียต ปกพาสปอร์ตของกลุ่มประเทศโซเวียตเป็นสีแดง ตามสีของคอมมิวนิสต์ ส่วนตุรกี เพิ่งจะเปลี่ยนสีปกพาสปอร์ตจากน้ำเงินเข้มมาเป็นแดงเลือดหมู ก็เพื่อให้เข้ากับสีพาสปอร์ตของสมาชิกอื่นๆใน EU ด้วยความหวังจะได้เข้าร่วมในสหภาพยุโรป นั่นเอง

4. ใครบ้างไม่ต้องมีพาสปอร์ต?

                 ทุกคนต้องมีพาสปอร์ต แม้แต่พระราชาของแต่ละประเทศ หรือโป๊ปแห่งนครวาติกันก็ยังต้องมี โดยโป๊ปนั้นถือพาสปอร์ตหมายเลข 1 เสมอ แม้ว่าในนครวาติกัน จะไม่มีด่านตรวจคนเข้าเมือง และไม่มีความจำเป็นต้องใช้พาสปอร์ตตรวจลงตราเพื่อเข้าเยี่ยมชมก็ตาม อย่างไรก็ดี ในโลกนี้ก็มีข้อยกเว้น โดยพระราชินีแห่งอังกฤษ ไม่ต้องใช้พาสปอร์ต เนื่องจากพาสปอร์ตทุกเล่มของชาวอังกฤษ ออกในนามสมเด็จพระราชินีอังกฤษ ดังนั้น เจ้าของพาสปอร์ตที่แท้จริง คือ พระราชินี! แต่พระองค์ไม่จำเป็นต้องใช้พาสปอร์ตแม้สักครั้ง ในการเดินทางเข้า-ออกประเทศ!

5. พาสปอร์ตนะจ๊ะ ไม่ใช่วีซ่า

                 พาสปอร์ต อย่างที่บอก คือ เอกสารแสดงความเป็นตัวตนที่แท้จริง เพื่อใช้ในการเดินทางไปยังประเทศต่างๆ ส่วนวีซ่า คือ เอกสารที่แต่ละประเทศจะขอเรียกดูจากคนสัญชาติอื่น เพื่ออนุญาต(หรือปฏิเสธ)ให้คนสัญชาติอื่นๆ เดินทางเข้ามายังประเทศตนได้ โดยปกติ จะต้องทำวีซ่าก่อนเดินทางเข้าไปยังประเทศนั้นๆ อย่างไรก็ดี ก็มีบางประเทศ ตามแต่สนธิสัญญา ข้อตกลง ที่อนุญาตให้ทำวีซ่าได้ที่สนามบิน เมื่อเดินทางมาถึงแล้ว เช่น ในประเทศไทย นักท่องเที่ยวจีน, อินเดีย, คาซัคสถาน, ภูฏาน, ลัตเวีย, มอลตา ฯลฯ สามารถเดินทางมาทำวีซ่าได้ที่ด่านสนามบินสุวรรณภูมิเพื่อพำนักในประเทศไทยไม่เกิน 15 วัน ส่วนคนไทย สามารถเดินทางไปยัง 28 ประเทศ โดยไม่ต้องใช้วีซ่าได้ ซึ่งรวมทั้ง ญี่ปุ่น, เกาหลี, ฟิลิปปินส์, ตุรกี, มาเลเซีย, ฮ่องกง, มาเก๊า ฯลฯ นั่นเอง

6. ในพาสปอร์ต ไม่ได้มีแค่ภาษาเดียว

                 ในปัจจุบัน พาสปอร์ตจะต้องมีภาษาราชการของชาตินั้นๆ 1 ภาษา และภาษาที่เป็นที่ยอมรับสากล อีก 1 ภาษา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นภาษาอังกฤษ แต่บางประเทศก็เป็นภาษาฝรั่งเศส ซึ่งถือเป็นภาษาสากลของการทูตระหว่างประเทศสมัยก่อน ได้อีกด้วย เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองของประเทศอื่นนั้น สามารถเข้าใจได้ว่า บุคคลเจ้าของหนังสือเดินทางนั้นชื่ออะไร มาจากที่ไหน เพราะว่าบางครั้ง ชื่อเรียกประเทศในภาษาท้องถิ่น กับชื่อที่คนทั่วโลกรู้จัก แทบจะเป็นคนละชื่อเดียวกันเลย เช่น ประเทศ Albania ประเทศเล็กๆแถบบอลข่าน ชื่อราชการของประเทศเค้า กลับเรียกกันว่า Shqipëria (ฌิ-เปรีย) เป็นต้น และในทางกลับกัน เจ้าของหนังสือเดินทางนั้น บางคนก็อ่านภาษาอังกฤษไม่ออก จึงต้องมีภาษาท้องถิ่นกำกับอยู่ เพื่อให้เจ้าของพาสปอร์ตเข้าใจเองได้ด้วย ส่วนพาสปอร์ตของประเทศเบลเยี่ยม มีถึง 3 ภาษา คือ ภาษา ดัตช์, ฝรั่งเศส, และเยอรมัน โดยไม่มีภาษาอังกฤษ ในขณะที่สมัยก่อน พาสปอร์ตไทยมีแต่ภาษาฝรั่งเศส! และทั้งเล่ม มีเพียงทั้งหมด 2 หน้า คือ หน้าแรก เป็นข้อความทางราชการจากรัฐบาลสยาม เพื่อขออำนวยความสะดวกในการเดินทางให้แก่ผู้ถือหนังสือเดินทาง ส่วนหน้าสองแสดงรายละเอียดข้อมูลส่วนบุคคล เช่น รูปถ่าย อายุ ความสูง สีผม ตา ใบหน้า ตำหนิ และลายมือชื่อผู้ถือหนังสือเดินทาง มีอายุการใช้งาน 1 ปี

7. พาสปอร์ตบางเล่ม เข้าบางประเทศไม่ได้

                 ด้วยความเป็นศัตรูทางการเมือง หรือเหตุขัดแย้งระหว่างประเทศในประวัติศาสตร์ ทำให้บางประเทศ “แบน” ไม่ให้เจ้าของพาสปอร์ตอีกประเทศหนึ่ง เดินทางเข้าประเทศนั้นๆ ได้ แม้ว่าคนเหล่านั้นจะไม่ได้ทำปิดกฏหมายใดๆ ก็ตาม เช่น บนหนังสือเดินทางของปากีสถานทุกเล่ม จะมีข้อความพิมพ์ว่า “หนังสือเดินทางใช้ได้กับทุกประเทศยกเว้นอิสราเอล” ซึ่งทำให้คนปากีสถานมากมายไม่กล้าที่จะเดินทางไปประเทศอิสราเอล เนื่องจากรัฐบาลปากีสถาน ไม่ยอมรับสถานภาพประเทศอิสราเอลในฐานะประเทศเอกราช แต่ในทางกลับกัน พาสปอร์ตอิสราเอลในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็ระบุว่า สามารถใช้ได้กับทุกประเทศยกเว้นเยอรมัน ซึ่งเป็นประเทศที่ฆ่าล้างผู้คนชาวยิวไปกว่า 6 ล้านคน ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 นั่นเอง หรือประเทศอาเซอร์ไบจาน ก็แบนนักท่องเที่ยวจากอาร์เมเนียไม่ให้เข้าประเทศ จากเหตุสงคราม Nagorno-Karabakh ที่ยืดเยื้อยาวนานระหว่าง 2 ประเทศ แต่คนอาเซอร์ไบจานสามารถเข้าประเทศอาร์เมเนียได้โดยไม่ต้องใช้วีซ่า

8. พาสปอร์ต เก็บข้อมูลมากกว่าที่คุณคิด

                 แน่นอนว่า สมัยก่อนพาสปอร์ตมีข้อมูลเพียงบางส่วนเกี่ยวกับตัวคุณ เช่น หน้าตา วันเดือนปีเกิด สถานที่เกิด สัญชาติ ฯลฯ แต่ในปัจจุบัน พาสปอร์ตฝังชิพคอมพิวเตอร์ ซึ่งจะเก็บข้อมูลสำคัญทุกอย่าง ไม่ใช่แค่ สีผม ตา ใบหน้า ตำหนิ ฯลฯ เท่านั้น แต่ในอนาคตยังบันทึกประวัติการเดินทางของคุณ จากการแตะผ่านด่านเข้า-ออกประเทศอัตโนมัติ ซึ่งมีการสแกนชิพในพาสปอร์ต และไม่ได้ใช้พนักงานตรวจอีกต่อไป และแน่นอนว่า หากพาสปอร์ตหาย ก็อาจสามารถตามเจอได้จากการที่ชิพถูกสแกนติดในที่ใดที่หนึ่งในประเทศอื่นที่เจ้าของตัวจริงไม่ได้เดินทางไป ในบางประเทศ เช่น อิสราเอล พาสปอร์ตยังบันทึกละเอียดถึงขั้น ความห่างระหว่างดวงตาทั้ง 2 ข้าง และโครง

สร้างกระดูก เพื่อป้องกันการปลอมแปลงตัวตนได้อีกด้วย

9. เมื่อพาสปอร์ต มีลูกเล่นมากกว่าที่คุณคิด!

                 พาสปอร์ตหลายๆประเทศ มีลูกเล่นมากกว่าที่คุณคิด เช่น พาสปอร์ตของแคนาดา จะเรืองแสงได้ในตอนกลางคืน หรือส่องกับหลอดอัลตราไวโอเลต ส่วนรัฐบาลประเทศฟินแลนด์ ทำรูปกวางมูสให้สามารถเดินได้ หากคุณกรีดหน้าหนังสือเดินทางเร็วๆ เหมือนที่เด็กๆชอบเล่นกัน  ในขณะที่พาสปอร์ตของสหรัฐฯ เป็นอันรู้กันว่า มีความสวยงามมาก และแต่ละหน้า บรรยายถึงประวัติศาสตร์ และเรื่องราวการสร้างชาติของพวกเขา

ด้วยเหตุนี้ พาสปอร์ต จึงมีอะไรมากกว่าที่จะเป็นแค่ หนังสือเดินทาง น่าเบื่อๆ ที่ไม่สามารถทำอะไรได้เลย หากไม่ได้เดินทางออกนอกประเทศ ตรงกันข้าม ในหลายๆประเทศ พาสปอร์ตเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับทุกสิ่งและขาดเสียไม่ได้ และมีข้อมูลมากมายที่ถูกบันทึกเอาไว้ในสมุด 1 เล่มมากกว่าที่คุณคิดว่าจะมี ยิ่งในยุคปัจจุบัน ที่เทคโนโลยี สามารถทำให้ข้อมูลส่วนตัวของเจ้าของพาสปอร์ต สามารถถูกย่อลงไปใส่ในชิพเล็กๆ ไม่แน่ว่า ในอนาคต  พาสปอร์ตอาจจะไม่ใช่สมุดเล็กๆ 1 เล่มอีกต่อไป แต่อาจจะกลายเป็นบัตรพลาสติก 1 ใบ ที่บันทึกบัญชีข้อมูลส่วนตัว บัญชีธนาคาร และวีซ่าในรูปอิเล็กทรอนิกส์ และสามารถยังสามารถนำไปใช้จับจ่าย-ซื้อสินค้าในต่างประเทศ เหมือนบัตรวีซ่าธรรมดาๆ ใบหนึ่งได้อีกด้วย


ถ้าคุณกำลังแพลนจะไปเที่ยวที่ไหน ตรวจสอบกันดีๆ ไม่ใช่แค่เรื่องราคาตั๋วราคาโรงแรมเท่านั้น ก่อนอื่นเลย อย่าลืมตรวจหน้าพาสปอร์ต ว่ายังเหลือพอสำหรับเข้าประเทศอื่น หรือมีอายุไม่ต่ำกว่า 6 เดือน ด้วยนะครับ

20 views
bottom of page